Overall Equipment Effectiveness (OEE)

ถ้ามนุษย์มี KPI ไว้วัดประสิทธิภาพการทำงาน เครื่องจักรก็มีสิ่งที่เรียกว่า Overall Equipment Effectiveness (OEE) เพื่อวัดประสิทธิผลการผลิตโดยรวมเช่นกัน โดยในบทความนี้จะพาคุณไปทำความรู้จักกับรูปแบบการวัดผลนี้ เพื่อความเข้าใจและการทำงานที่ถูกต้องมากขึ้น

Overall Equipment Effectiveness (OEE): ประสิทธิผลโดยรวมของเครื่องจักร คือวิธีการคำนวณความสามารถในการทำงานทั้งหมดของเครื่องจักรภายในโรงงาน โดยอ้างอิงจากปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและสรุปออกมาเป็นตัวเลข

โดยการคำนวณ OEE จะมีส่วนประกอบหลัก 3 อย่าง คือ

  1. อัตราการเดินเครื่องจักร (Availability)
  2. ประสิทธิภาพของเครื่องจักร (Performance Efficiency)
  3. อัตราคุณภาพ (Quality Rate)

ซึ่งส่วนประกอบ 3 อย่างนี้ก็จะมีปัจจัยแยกย่อยลงไป เพื่อให้การคำนวณนั้นตรงกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นภายในโรงงานมากที่สุด

การคำนวณ OEE

สำหรับการคำนวณ OEE ทางผู้ประกอบการจำเป็นต้องแยก Factor ย่อยๆ ของ OEE ออกมาก่อน แล้วจึงนำไปเข้าสูตรการคำนวณ OEE โดยมีรายละเอียดดังนี้

OEE = อัตราเดินเครื่องจักร x ประสิทธิภาพการเดินเครื่อง x อัตราคุณภาพ

อัตราการเดินเครื่องจักร (Availability)

อัตราการเดินเครื่องจักร = เวลาเดินเครื่องจักร/เวลารับภาระงาน

เวลาเดินเครื่องจักร = เวลารับภาระงาน – เวลาในการหยุดเดินเครื่องจักร

เวลารับภาระงาน = เวลาทำงานทั้งหมด-เวลาหยุดตามแผนงาน

ตัวอย่างการหาอัตราเดินเครื่องจักร

เครื่องจักรในโรงงานตัวหนึ่งมีเวลาทำงานทั้งหมด 36 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มีการหยุดตามแผนงานสัปดาห์ละ 4 ชั่วโมง มีเวลาสูญเสียจากการที่เครื่องจักรหยุด 2 ชั่วโมง ใน 1 สัปดาห์อัตราการเดินเครื่องจักรจะเป็นเท่าใด

แทนค่าตัวแปร

เวลารับภาระงาน = เวลาทำงานทั้งหมด – เวลาหยุดตามแผนงาน

= 36-4

= 32 ชั่วโมง

เวลาเดินเครื่องจักร = เวลารับภาระงาน – เวลาในการหยุดเดินเครื่องจักร

= 32-2

= 30

อัตราการเดินเครื่องจักร = เวลาเดินเครื่องจักร/เวลารับภาระงาน

= 30/32

= 93.75%

ประสิทธิภาพการเดินเครื่องจักร (Performance Efficiency)

การคำนวณประสิทธิภาพการเดินเครื่องจักรสามารถคำนวณได้ 2 แบบ โดยอ้างอิงจากเวลาในการใช้ตัวแปรด้านเวลาเพื่อคำนวณ หรือการคำนวณจากการผลิตชิ้นงาน โดยจะมีรายละเอียดดังนี้

การคำนวณประสิทธิภาพโดยคิดจากเวลา

ประสิทธิภาพในการเดินเครื่องจักร = (เวลาเดินเครื่องทั้งหมด – เวลาในการหยุดเดินเครื่องจักร)/เวลาเดินเครื่องทั้งหมด

การคำนวณประสิทธิภาพโดยคิดจากการผลิตชิ้นงาน

ประสิทธิภาพการเดินเครื่องจักร = จำนวนชิ้นงานที่ผลิตได้/จำนวนชิ้นงานที่ควรผลิตได้ตามมาตรฐาน

ตัวอย่างการหาประสิทธิภาพการเดินเครื่องจักร

เวลาทำงานของเครื่องจักรเครื่องหนึ่ง มีการใช้เวลาทำงานจริงทั้งหมด 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งในช่วงเวลาการทำงานนั้นมีการหยุดทำงานเครื่องจักรไป 10 ชั่วโมง ประสิทธิภาพการเดินเครื่องจักรนี้คิดเป็นเท่าใด

แทนค่าตัวแปร
ประสิทธิภาพในการเดินเครื่องจักร = (เวลาเดินเครื่องทั้งหมด – เวลาในการหยุดเดินเครื่องจักร)/เวลาเดินเครื่องทั้งหมด

= (48-10)/48

= 79%

อัตราคุณภาพ (Quality Rate)

การคำนวณอัตราคุณภาพ เป็นอีกตัวแปรที่สามารถผ่านการคำนวณได้ 2 รูปแบบ รูปแบบแรกคือการหาอัตราคุณภาพผ่านตัวแปรด้านเวลา ส่วนอีกรูปแบบคือการหาอัตราคุณภาพผ่านชิ้นงานที่ผลิตได้ โดยมีการคำนวณดังนี้

การหาอัตราคุณภาพโดยคิดจากเวลา

เวลาเดินเครื่องที่เกิดมูลค่า = เวลาเดินเครื่องสุทธิ – เวลาที่เสียไปจากการผลิตของเสีย

อัตราคุณภาพ = เวลาเดินเครื่องที่เกิดมูลค่า/เวลาเดินเครื่องสุทธิ

การหาอัตราคุณภาพโดยคิดจากสิ่งที่ผลิต

อัตราคุณภาพ = (จำนวนชิ้นงานที่ผลิตได้-จำนวนชิ้นงานเสีย)/จำนวนชิ้นงานที่ผลิตได้

ตัวอย่างการหาอัตราคุณภาพ
เครื่องจักรเครื่องหนึ่ง สามารถผลิตผลงานได้ 500 ชิ้นต่อวัน โดยมีงานที่เสียจำนวน 50 ชิ้น อัตราคุณภาพของเครื่องจักรนี้จะเป็นเท่าใด

แทนค่าตัวแปร

อัตราคุณภาพ = (จำนวนชิ้นงานที่ผลิตได้-จำนวนชิ้นงานเสีย)/จำนวนชิ้นงานที่ผลิตได้

= (500-50)/500

= 90%

จากตัวอย่างที่ยกมา สมมติค่าตัวแปรดังนี้

การคิด OEE

สมมติโจทย์ โดยคิดจากการทำงานของเครื่องจักรในตัวอย่าง อัตราเดินเครื่องจักร ประสิทธิภาพการเดินเครื่องจักร และอัตราคุณภาพของเครื่องจักร

OEE = อัตราเดินเครื่องจักร x ประสิทธิภาพการเดินเครื่อง x อัตราคุณภาพ

= 93.75% * 79% *90%

= 66%

ข้อควรระวังในการใช้ OEE

ต้องมีการเก็บข้อมูลที่ครบถ้วน แม่นยำ ทุกการคำนวณในโรงงานอุตสาหกรรม จะต้องมีการจดบันทึกที่ครบถ้วน ถูกต้อง หากขาดตัวแปรใดตัวแปรหนึ่งจะทำให้ข้อมูลในการคำนวณน้อยเกินไป ทำให้ผลการคำนวณออกมาไม่ตรงกับความเป็นจริง เกิดผลเสียในระยะยาว

หน่วยการคำนวณต้องเหมือนกัน หากข้อใดข้อหนึ่งใช้ตัวแปรด้านเวลาเป็นหน่วยชั่วโมง ตัวแปรด้านเวลาของข้อที่เหลือจำเป็นต้องใช้หน่วยชั่วโมงเช่นกัน หากเป็นนาที ก็ต้องเปลี่ยนให้เป็นนาทีเหมือนกัน ไม่เช่นนั้นข้อมูลที่คำนวณได้จะผิดเพี้ยน

สำหรับการทำงานจริงแล้ว นอกจากการคำนวณด้วยบุคคล การใช้เครื่องมือประเภท IoT ในการเก็บข้อมูลการทำงาน ก่อนทำผ่านการประมวลผลด้วยโปรแกรมคำนวณค่าสำหรับโรงงาน อาจจะเป็นวิธีที่ดีกว่า ง่ายกว่า ลดความผิดพลาดได้มากกว่า เหมาะสำหรับการทำงานในระยะยาวเป็นอย่างยิ่ง

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *